โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ (อพ.สธ. - กสส.)
ความเป็นมา
ด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสกับ ดร. พิศิษฐ วรอุไร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ณ อาคารชัยพัฒนา มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ทรงสังเกตเห็นจังหวัดต่างๆในภาคใต้ของประเทศ มีการใช้ไม้ดอกกันมากและดอกไม้เหล่านั้นมากชนิดต้องซื้อเข้ามาจากต่างประเทศ หากจะมีการปลูกดอกไม้เสียเองในภาคใต้จะเกิดประโยชน์มาก ดร.พิศิษฐ วรอุไร ได้กราบบังคมทูลทรงทราบว่ามีที่ดินของนิคมสหกรณ์อยู่บนเส้นทางหลวงระหว่างสุราษฎร์ธานี - ตะกั่วป่า ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาสก เหมาะสำหรับผลิตดอกไม้เมืองหนาว หากแต่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ก่อน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงมีพระราชประสงค์จะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว
ดร.พิศิษฐ วรอุไร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริการการขยายพันธุ์ไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ประสานงานและศึกษาความเป็นไปได้ในที่ดิน 2 แปลงคือ บริเวณคลองหมอกและทุ่งตาหนอน เนื้อที่รวมประมาณ 1,600 ไร่ จากการศึกษาและสำรวจปรากฏว่า ที่ดินบริเวณทุ่งตาหนอนมีความเหมาะสม แต่มีประชาชนได้เข้าไปครอบครองอาศัยอยู่ก่อนตั้งนิคมสหกรณ์พนมบางส่วน คงมีพื้นที่ที่ว่างอยู่จริงที่นิคมสหกรณ์พนมกันไว้ ประมาณ 100 - 200 ไร่ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ก็ได้กราบบังคมทูลในเบื้องต้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2537 ว่าการทดลองปลูกไม้ดอกไม้ประดับในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ควรเลือกพื้นที่ดำเนินการทดลองในบริเวณ บ้านทุ่งตาหนอน เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อราษฎรในการใช้ที่ดิน ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ไม่ขัดข้องในการที่จะใช้พื้นที่ดำเนินโครงการในการดำเนินกิจกรรมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในปี พ.ศ. 2539 - 2540 ได้จัดตั้งกลุ่มสมาชิกจากบ้านทุ่งตาหนอน จำนวน 30 ครอบครัว และทางโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นพี่เลี้ยงในด้านวิชาการจัดหาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ แนะนำวิธีการปลูกและดูแลรักษารวมทั้งขยายตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิตพันธุ์ไม้ที่นำมาให้ทดลองปลูก เช่น กล้วยไม้ตัดดอกลูกผสม มะลิ แกลดิโอลัส ปทุมมา นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมต้นพันธุกรรมพืชที่ได้จากกิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมไว้ในพื้นที่ด้วย
ปี พ.ศ. 2541 - 2542 ได้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน โดยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มารับดำเนินการเอง และจ้างสมาชิกที่จะทำงานร่วมกับโครงการฯ เป็นรายวัน มีการเพิ่มปริมาณการปลูกและขยายพันธุกรรมพืชให้มากขึ้น
ปี พ.ศ. 2543 - 2551 จะเป็นงานดูแลรักษา ขยายพันธุกรรมพืชเพิ่มเติม มีการก่อสร้างอาคารบ้านพักในพื้นที่โครงการฯ ซึ่งในการดำเนินงานจะมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นหน่วยงานหลัก โดยมีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เป็นที่ปรึกษาและมีส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้การสนับสนุนและร่วมกิจกรรมในการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ แต่การดำเนินกิจกรรมไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ในปี พ.ศ. 2552 - 2553 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เป็นที่ปรึกษา ได้มีการจัดทำผังและแบ่งพื้นที่ให้แต่ละส่วนราชการรับผิดชอบในแต่ละแปลงปลูกพืชที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งได้ก่อสร้างโรงเรือนเพาะพันธุ์กล้าไม้ ก่อสร้างถนนและฝายกั้นน้ำขนาดเล็กภายในบริเวณโครงการฯ โดยนิคมสหกรณ์พนมได้รับมอบที่ดินแปลงที่ 5 ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับมอบหมายให้ปลูกพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ และการดำเนินกิจกรรมตามโครงการพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ เพื่อสนับสนุนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และช่วงเวลาเดียวกัน กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนให้มีการบูรณาการดำเนินงานโครงการฯ ในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัด อีก 1 แห่ง รวม 2 แห่ง
ปี 2555 ได้กำหนดให้มีพื้นที่แปลงสาธิตโครงการฯ แห่งละไม่น้อยกว่า 2 ไร่ มีจำนวน 10 แห่ง ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ 10 จังหวัด และเพิ่มจำนวนพื้นที่ในการดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้น 53 แห่ง ได้แก่ นิคมสหกรณ์ 49 แห่ง ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด 3 จังหวัด คือ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสิงห์บุรี
ปี 2566 กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมสนองพระราชดำริฯ ในพื้นที่รวม 52 แห่ง ได้แก่ นิคมสหกรณ์ 49 แห่ง ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด 2 จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสิงห์บุรี (จังหวัดนครสวรรค์ออกจากแผนปฏิบัติงานเนื่องจากข้อจำกัดการเข้าพื้นที่ดำเนินงาน)
วัตถุประสงค์
- เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
- เพื่อเก็บรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่น และพันธุ์พืชหายาก เพื่อใช้ในการปลูกรักษา และรวบรวมพันธุ์ไม้
- เพื่อดูแล รักษา พัฒนาแปลงสาธิตให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของสมาชิกนิคมสหกรณ์ นักเรียน ประชาชนและผู้ที่สนใจ
- เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
- เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลทรัพยากร พันธุกรรมพืชในท้องถิ่นของหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ
- เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สนองพระราชดำริโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์
พื้นที่ดำเนินการ
ดำเนินการในพื้นที่ 52 แห่ง ใน 31 จังหวัด ได้แก่ นิคมสหกรณ์ 49 แห่ง ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง และ 2 จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสิงห์บุรี
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
กองประสานงานโครงการพระราชดำริ กรมส่งเสริมสหกรณ์ 12 ถนนกรุงเกษม
แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์ 0 2628 5146 โทรสาร 0 2281 6698
Email :
Copyright © 2022 โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ